วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552


รมว.ศึกษาธิการ มอบหมาย ก.ค.ศ. พิจารณาทบทวนการการคัดเลือกครูทั้งระบบ พร้อมขู่เชือดวินัยร้ายแรงโกงเลือกตั้งผู้แทนครู กกต.ศธ.แฉวิ่งรอกฮั้วสมัคร …

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. กลับไปพิจารณาทบทวนกระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูทั้งระบบ ได้แก่ 1. การสอบคัดเลือก ที่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งออกข้อสอบเอง ซึ่งจะมีถึง 185 มาตรฐาน ควรมีการปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ 2. การเปิดโอกาสให้พนักงานราชการบรรจุเป็นข้าราชการครู ชดเชยอัตราผู้เกษียณอายุราชการในสัดส่วน 25% ควรมีการปรับสัดส่วนหรือไม่ และ 3. โครงการครูพันธุ์ใหม่มีความเหมาะสมหรือยัง ควรปรับปรุงใหม่หรือไม่ เพื่อให้ได้คนเก่ง คนดี และมีประสบการณ์มาบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ตามวัตถุประสงค์มากขึ้น โดยให้เสนอเรื่องนี้ในการประชุมครั้งหน้า สำหรับข้อห่วงใยปัญหาเด็กฝากบรรจุเป็นข้าราชการครูนั้น ตนเชื่อว่าหากกระบวนการมีความเข้มแข็งและแม่นยำ เรื่องการ ฝากเด็กคงเป็นเรื่องยาก

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ พิจารณาการเลือกตั้งผู้แทนใน คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขต พื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ ที่ต้องให้เป็น ไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยที่ประชุมเน้นย้ำว่า หากพบมีปัญหาใดเกิดขึ้นให้รีบรวบรวมและพิจารณาให้ทันท่วงที  ทั้งนี้  คณะกรรมการชุดดังกล่าว และ ก.ค.ศ. จะใช้มาตรา 93 ของ พ.ร.บ.ครูและบุคลากร ทางการศึกษา ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม  โดยหากครูและบุคลากรทาง การศึกษาคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการอันเป็นการทุจริต จะถือว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ด้านนายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานคณะกรรมการ ติดตามดูแลการสรรหา และการเลือกตั้งฯ หรือ กกต.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดรับสมัคร โดยมีผู้สมัครหลายคนวิ่งรอกไปยื่นสมัครเป็นผู้แทนครูมากกว่าหนึ่งเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งแม้จะมีสิทธิ์แต่โดยมารยาทแล้วไม่ควรทำ และยังพบว่ามีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทน ก.ค.ศ.1 ในจำนวน 3 คน ที่ สพท.คัดเลือกให้ ก.ค.ศ.พิจารณามาสมัครเป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทั้ง 2 กรณีนี้คงต้องตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่.

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552





สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔(จีน鄭昭พินอินZhèng Zhāoแต้จิ๋ว: Dênchao) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี มีพระนามเดิมว่า "สิน" ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี (รวมกับระยะเวลาที่กอบกู้เอกราชอีก ๑ ปี) เสด็จสวรรคตในวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำเดือน ๕ จ.ศ. ๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ รวมสิริพระชนมมายุ ๔๘ พรรษา

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่ การกอบกู้เอกราชจากพม่า และการทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความเจริญประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ โปรดฯ ให้มีการสร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม

เนื่องจากพระองค์ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ให้เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"[4]พระราชสมภพ

พระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจากจินตนาการของศิลปิน

จดหมายเหตุโหร บันทึกว่าวันเสด็จสวรรคตตรงกับพุธแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๕ ปีขาล ยังเปน ตรีศก จ.ศ.1143 พระชนมายุ ๔๗ ปีกับ ๑๕ วัน ดังนั้นย้อนกลับไปตามปฏิทินจันทรคติแห่งชาติเทียบปฏิทินสุริยคติสากล จึงพบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีเถาะ ยังเปนฉศก จุลศักราช ๑๐๙๖ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๘ เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขณะทรงผนวช

มีหนังสือพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า ไหฮอง[5] (ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า "ไหฮอง" ไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นชื่อตำบลในมณฑลกวางตุ้ง) ได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย[6] มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านของเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ครั้นเวลาล่วงมาถึง ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๗ ขุนพัฒมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ หยง[7] เกิดแต่ นางนกเอี้ยงซึ่งเป็นชาวไทย[8]

ทารกคนนี้คลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก เป็นทักขิณาวัฏ ขุนพัฒผู้เป็นบิดาเกรงว่าเรื่องนี้อาจลางร้ายแก่สกุล จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรี[9] แล้วเจ้าพระยาจักรีได้เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีได้เด็กน้อยคนนี้มา ลาภผลก็เกิดมากมูลพูนเพิ่มมั่งคั่งขึ้นแต่ก่อน เจ้าพระยาจักรีจึงกำหนดเอาเหตุนี้ขนานนามให้ว่า สิน

จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินพระเจ้าเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก และเกิดเจิ้งเจาที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [10] ("เจิ้งเจา"คือสมเด็จพระเจ้าตากสิน ออกเสียงตามสำเนียงปักกิ่ง ถ้าเป็นแต้จิ๋วออกเสียงว่า"แต้เจียว" ส่วน"เสียมล่อก๊ก"นั้น หมายถึงประเทศไทย)

[แก้]เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

ครั้นเมื่อเด็กชายสิน อายุได้ ๙ ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส[11] ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดงานมงคลตัดจุกนายสิน เป็นการเอิกเกริกและในระหว่างนั้น มีผึ้งหลวงมาจับที่เพดานเบญจารดน้ำปรากฏอยู่ถึง ๗ วันจึงหนีไป และในระหว่างนี้ นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มี ภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง ๓ ภาษา และยังได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และคัมภีร์พระไตรปิฎก

วันหนึ่ง นายสินคิดตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนบรรดาศิษย์วัดเล่นการพนัน พระอาจารย์ทองดีทราบเรื่องจึงลงโทษทุกคน โดยเฉพาะนายสินเป็นเจ้ามือถูกลงโทษหนักกว่าคนอื่น และให้มัดมือคร่อมกับบันไดท่าน้ำประจานให้เข็ดหลาบ นายสินถูกมัดแช่น้ำตั้งแต่เวลาพลบค่ำ พอดีเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พระอาจารย์ทองดีไปสวดพระพุทธมนต์ลืมนายสิน จนประมาณยามเศษ พระอาจารย์นึกขึ้นได้จึงให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นอันเตวาสิก ช่วยกันจุดไต้ค้นหาก็พบนายสินอยู่ริมตลิ่ง มือยังผูกมัดติดอยู่กับบันได แต่ตัวบันไดกลับหลุดถอนขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันแก้มัดนายสินแล้ว พระอาจารย์ทองดีจึงพาตัวนายสินไปยังอุโบสถให้นั่งลงท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายสวดพระพุทธมนต์ด้วยชัยมงคลคาถาเป็นการรับขวัญ[12]

[แก้]ทรงผนวช

ต่อมาเมื่อนายสินเรียนจบการศึกษา เจ้าพระยาจักรีก็ได้นำไปถวายตัวรับราชการภายใต้หลวงนายศักดิ์นายเวร ภายหลังเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์จนมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ โดยได้อุปสมบทอยู่กับอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส และบวชอยู่นานถึง ๓ พรรษา ในระหว่างอุปสมบทพระภิกษุสินได้ออกบิณฑบาตพร้อมกับพระภิกษุทองด้วงเป็นประจำ เพราะรับราชการเป็นมหาดเล็กทำงานด้วยกันมาหลายปี ทั้งสองมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก ได้อุปสมบทพร้อมกัน เช้าวันหนึ่งพระภิกษุทั้งสองเดินไปตามถนน เพื่อรับบิณฑบาตจากพระราชวังหลวง มีชายจีนผู้หนึ่งเดินผ่านพระภิกษุทั้งสองไปได้ ๓-๔ ก้าว ก็หยุดชะงักหันกลับมาดูแล้วก็หัวเราะ ทำเช่นนี้ถึง ๕-๖ ครั้ง สองภิกษุมองหน้าแล้วถามว่าหัวเราะเรื่องอะไร ชายจีนผู้นั้นบอกว่าตนเป็นซินแสหมอดู สามารถทายลักษณะของบุรุษหรือสตรีได้ แล้วทำนายให้พระภิกษุทั้ง ๒ องค์ว่า[13]

ซินแสทายพระภิกษุองค์ที่ ๑

ชายใดไกรลักษณ์พร้อมเพราองค์
ศักดิ์กษัตร์ถนัดทรงส่อชี้
สมบัติขัติยมงคลครอบ ครองแฮ
ชายนั้นคือท่านนี้แน่ข้าพยากรณ์ฯ

ซินแสทายพระภิกษุองค์ที่ ๒

ท่านเป็นบุรุษต้องตามลักษณ์ ล้วนแล
บุญเด่นเห็นประจักษ์เจิดกล้า
จักสู่ประภูศักดิ์สุรกษัตร์
สืบศุภวงษ์ทรงหล้าสฤษฎ์เลี้ยง เวียงสยาม
เกิดมาข้าพเจ้าไม่เคยเห็น
สองสหายหลายประเด็นเด่นชี้
ภายหน้าว่าจักเป็นปิ่นกษัตร์
นั่งอยู่ คู่กันฉนี้แน่ล้วน ชวนหัว

สองภิกษุว่า

สองข้าอายุใกล้เคียงกัน
ทั้งคู่จะทรงขัณฑ์ผิดเค้า
เป็นกษัตร์ร่วมรัฐบัลลังก์ร่วม ไฉนนอ
เห็นจะสัดตวงข้าวแน่แท้คำทายฯ

[แก้]เข้ารับราชการและการกอบกู้เอกราช

แล้วจึงลาสิกขาบทออกมารับราชการใหม่ ในตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงยกกระบัตร ไปรับราชการอยู่ที่เมืองตาก [14]เมื่อเจ้าเมืองตากถึงแก่อนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็นพระยาตาก

ต่อมาเมื่อมีข้าศึกพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากก็ได้ถูกเรียกตัวให้ลงมาช่วยงานราชการในกรุงศรีอยุธยา พระยาตากทำการสู้รบกับข้าศึกด้วยความเข้มแข็งสามารถยิ่ง มีบำเหน็จความชอบในสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแต่ยังมิได้ขึ้นไปปกครองเมืองกำแพงเพชร เพราะติดราชการสงครามกับพม่าอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙ เสียก่อน [15]

พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระยาวชิรปราการก็รวบรวมคนไปตั้งเป็นชุมนุมพระเจ้าตากที่เมืองจันทบูร [16] และมากอบกู้เอกราช และสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ กรุงธนบุรี [17]

[แก้]ปราบดาภิเษก

ดูเพิ่มที่ อาณาจักรธนบุรี

ภายหลังจากที่สร้างพระราชวังกรุงธนบุรีเสร็จสิ้นแล้ว ทรงจัดการบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ตอนแรกพระองค์ทรงคิดที่จะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาให้กลับคืนเป็นดังเดิม[18] แต่แล้วหลังจากตรวจดูความพินาศของเมือง ทรงเล็งเห็นว่าสภาพบ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในสภาพเสียหายยับเยินมาก เกินกว่ากำลังความสามารถที่มีอยู่ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้ และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร

ปรากฏว่าที่เมืองลพบุรี มีพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์อยุธยามาพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้คนไปอัญเชิญมายังเมืองธนบุรี พระองค์ทรงขุดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ขึ้นมาถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี[19][20]

[แก้]ปลายรัชสมัย

ในตอนปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา พวกกบฎได้ปล้นจนพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าจนต้องหลบหนีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฎ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๔ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน[21]

เหตุการณ์ภายหลังจากนั้นไม่แน่ชัด โดยมีความเชื่อหลายประการด้วยกัน

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งไปราชการทัพเมืองเขมร และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงได้รีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฎมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้อง กล่าวโทษว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติไป[22] เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคต ในวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล แต่ยังเป็นตรีศก จ.ศ.1143 หรือตรงกับวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมพรรษาได้ ๔๗ พรรษากับ ๑๕ วัน (ตามประชุมพระราชพงศาวดารภาค 8 จดหมายเหตุโหร) พระองค์พระราชสมภพและสวรรคตในเดือนเดียวกัน

แต่บางฉบับก็บอกว่าเป็นวันเดียวกัน ซึ่งยังไม่มีใครทราบเป็นที่แน่ชัด นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ทรงจงใจสละราชบัลลังก์เพื่อจะได้มิต้องชำระเงินกู้จากจีน เมื่อทรงได้รับการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ แล้วจึงเสด็จลงเรือสำเภาไปประทับที่เขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช[23] เสด็จสวรรคตที่นั่นในปี พ.ศ. ๒๓๖๘[24][25] งานเขียนสำคัญที่กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงปลายรัชสมัย แตกต่างจากในพระราชพงศาวดาร ที่มีชื่อเสียงเช่น เรื่องสั้นชุด ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน โดย หลวงวิจิตรวาทการ และ นวนิยาย ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? โดย สุภา ศิริมานนท์

ที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ตาก


ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้ และป่างาม

เมืองตาก เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง มีชื่อเดิมว่า “เมืองระแหง” ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็น ราชธานี เมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านฝั่งตะวันตก และยังเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหาราชในอดีตถึง ๔ พระองค์ ที่เสด็จมาชุมนุมกองทัพ ณ ดินแดนเมืองตากแห่งนี้ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวา ของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลบ้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้ 
ตาก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๔๒๖ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๑๐,๒๕๔,๑๕๖ ไร่ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็น ภูเขา และป่าไม้ เป็นจังหวัดที่มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่ยังคงความสมบูรณ์ของป่า และธรรมชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อุทยานแห่งชาติแม่เมย อุทยานแห่งชาติลานสาง และอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ตลอดจนมีน้ำตกที่ นักท่องเที่ยวผู้รักการผจญภัย และนิยมการล่องแก่งต้องมาเยือนสักครั้ง คือ น้ำตกทีลอซู และน้ำตกทีลอเร นอกจากความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อทั้งดอกไม้ และผลไม้ โดยเฉพาะทับทิม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลใหญ่ และกำลังได้รับความนิยมมาก 
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง 
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย 
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า โดยมีแม่น้ำเมย และทิวเขาถนนธงชัยเป็นพรมแดน 

งานตากสินมหาราชานุสรณ์ และงานกาชาด

จังหวัดตาก )
งานตากสินมหาราชานุสรณ์ และงานกาชาด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชบูรพกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทยเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชประวัติผูกพันกับจังหวัดตากเป็นอย่างมาก ชาวจังหวัดตากจึงได้จัดงานประเพณีตากสินราชานุสรณ์ขึ้นเพื่อเป็นการแสดงวีรกรรมเทิดพระเกียรติและเผยแพร่วีรกรรมของพระองค์ ภายในงานมีการแสดงแสงเสียงเทิดพระเกียรติ การบวงสรวงดวงวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การแสดงนิทรรศการ มหรสพ การออกร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ถึงวันที่ ๓ มกราคมของทุกปี ณ บริเวณศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ที่มา         http://flash-mini.com/thailand/ภาคเหนือ/ตาก/งานเทศกาล/งานตากสินมหาราชานุสรณ์%20และงานกาชาด/others/index.php

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประกาศ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1
เรื่อง รับสมัครคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในการสอบภาค ข. และ ภาค ค.
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1
……………………………………………………
ด้วย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 จะดำเนินการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ในการสอบภาค ข. และ ภาค ค.
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 มาตรา 57 มาตรา 61 และมาตรา 62 แห่งพระราช- บัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 11 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 และ ที่ ศธ 0206.2/386 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 จึงประกาศรับสมัครคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ในการสอบภาค ข. และ ภาค ค. ดังนี้
1. ตำแหน่งที่จะดำเนินการคัดเลือก
1.1 ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 3 อัตรา
1.2 ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 4 อัตรา
2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา
2.1 เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.2 มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา หรือหนังสือรับรองสิทธิแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา
2.3 เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกในการสอบภาค ก. ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกาศ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (บัญชีของจังหวัดสุโขทัย)

3. วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร
ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ ภาค ข. และ ภาค ค. ให้ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่
กลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ระหว่างวันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2552 ในเวลาราชการ
4. เอกสารหลักฐานประกอบการสมัคร
4.1 ใบสมัคร (พร้อมแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน)
4.2 รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 1 นิ้ว ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 3 รูป
4.3 สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ จำนวน 1 ฉบับ
4.4 สำเนาปริญญาบัตร หรือ สำเนาใบรับรองปริญญาบัตร จำนวน 1 ฉบับ
4.5 สำเนา ก.พ.7 หรือ สำเนาสมุดประวัติ (ที่เป็นปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ สพท.
เป็นผู้รับรองความถูกต้อง) จำนวน 1 ฉบับ
4.6 สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา หรือหนังสือรับรองสิทธิ
แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 ฉบับ
4.7 ผลการสอบผ่าน ภาค ก. ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ประกาศ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552(บัญชีของจังหวัดสุโขทัย) ที่เป็นฉบับจริง และ ฉบับสำเนา จำนวน 1 ฉบับ
หมายเหตุ : ให้นำเอกสารฉบับจริง ข้อ 4.3 , 4.4 , 4.6 , 4.5 แสดงต่อเจ้าหน้าที่รับสมัครด้วย
พร้อมทั้งลงนามรับรองความถูกต้องในเอกสารอ้างอิงที่สำเนาภาพถ่ายทุกฉบับ
ในกรณีที่ผู้สมัครมีคุณสมบัติไม่ตรง หรือเอกสารหลักฐานไม่ครบตามประกาศรับสมัคร เจ้าหน้าที่รับสมัครมีสิทธิที่จะไม่รับสมัคร ผู้สมัครรายใดปกปิดหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ จนเจ้าหน้าที่ รับสมัครไม่สามารถตรวจสอบได้ในขณะรับสมัคร และได้รับสมัครไว้ หากได้รับการคัดเลือกและหรือได้รับ การแต่งตั้ง เมื่อได้ตรวจสอบพบภายหลัง จะถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกหรือยกเลิกการแต่งตั้ง
5. การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 และทางเว็บไซต์ www.sukhothai1.go.th.
6. หลักสูตรและวิธีการคัดเลือก
หลักสูตรและวิธีการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ในการสอบภาค ข. และ ภาค ค. ครั้งที่ 1 ปี 2552 ปรากฏในรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้
7. วัน เวลา และสถานที่คัดเลือก
7.1 สอบภาค ข. และ ภาค ค. ตามกำหนดการ ดังนี้
วัน/เวลา วิชาที่สอบ คะแนนเต็ม
8 ธันวาคม 2552
10.00 – 12.00 น. ภาค ข. ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
1. ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน 100
14.00 – 16.00 น. 2. ความรอบรู้ทั่วไป 100
9 ธันวาคม 2552 09.00 น. เป็นต้นไป
ภาค ค. การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง
1. ประเมินผลการปฏิบัติงาน50
2. สัมภาษณ์ 50

7.2 สถานที่สอบ จะแจ้งให้ทราบในประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
8. เกณฑ์การตัดสิน
ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้คะแนนการสอบภาค ข. และ ภาค ค. แต่ละภาคไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60 และจะต้องได้คะแนนรวมภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยเรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนรวมสูงสุดจากมากไปหาน้อย
กรณีได้คะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ได้คะแนน ภาค ก. มากกว่าอยู่ในลำดับที่ดีกว่า
กรณีได้คะแนน ภาค ก. เท่ากันอีก ให้ผู้ได้คะแนน ภาค ข. มากกว่าอยู่ในลำดับที่ดีกว่า
กรณีได้คะแนนภาค ข. เท่ากันอีก ให้ผู้ที่ได้คะแนนสมรรถนะทางการบริหารมากกว่า อยู่ในลำดับที่ดีกว่า
9. การประกาศผลการคัดเลือก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 จะประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่
11 ธันวาคม 2552 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 และทางเว็บไซต์ www.sukhothai1.go.th.
10. การขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือก
จะประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันประกาศขึ้นบัญชี
11. การยกเลิกบัญชีผู้ได้รับคัดเลือก
11.1 เมื่อมีการประกาศผลการคัดเลือกขึ้นบัญชีครั้งใหม่ในตำแหน่งเดียวกัน
11.2 เมื่อมีการสมัครคัดเลือกภาค ก. ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐานครั้งใหม่ และประกาศขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกภาค ก. ครั้งใหม่
11.3 ผู้ได้รับการคัดเลือกจะถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
11.3.1 ผู้นั้นไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด
11.3.2 ผู้นั้นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว
11.3.3 ผู้นั้นขอสละสิทธิ์
11.3.4 ผู้นั้นออกจากราชการไปไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้ง หรือพ้นจากตำแหน่งทางสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
12. การบรรจุและแต่งตั้ง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 จะบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ที่ขึ้นบัญชี
ผู้ได้รับคัดเลือกเฉพาะรายที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และต้องผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด
หากตรวจสอบภายหลังพบว่า ผู้ผ่านการคัดเลือกรายใดเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งหรือขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือหากได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว จะถูกเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง โดยจะเรียกร้องสิทธิใด ๆ มิได้ ทั้งนี้จะบรรจุแต่งตั้งผู้ได้รับคัดเลือกหลังจากการพิจารณาย้ายบุคคลให้ดำรงตำแหน่งว่างที่มีอยู่เสร็จสิ้นแล้ว
ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ถวิล น้อยเขียว
(นายถวิล น้อยเขียว)
ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1

หลักสูตรการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง
ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในการสอบ ภาค ข. และ ภาค ค.
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1
ครั้งที่ 1 / 2552
แนบท้ายประกาศ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
……………………………………
การคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 ในการสอบ ภาค ข. และ ภาค ค. ครั้งที่ 1/2552 ให้ดำเนินการสอบข้อเขียน และประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
ภาค ข. ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (คะแนนเต็ม 200 คะแนน)
1. ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
1.1 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
1.2 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
1.3 พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
1.4 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ. 2551
1.5 พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากร
ทางการศึกษา พ.ศ. 2547
1.6 พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎ ก.ค.ศ. และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
กับการปฏิบัติงาน
2. ความรอบรู้ทั่วไป (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
2.1 นโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และวาระแห่งชาติ
2.2 แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการ และส่วนราชการที่สังกัด
2.3 พลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
2.4 การบริหารยุคใหม่ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง
2.5 เทคโนโลยียุคใหม่ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง
2.6 การพัฒนาระบบราชการ
ภาค ค. การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
1. ประเมินผลการปฏิบัติงาน (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
2. สัมภาษณ์ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
…………………………………………..

ที่มา http://www.sukhothai1.go.th/index.php

กำหนดการสอบคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง

ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา

ในการสอบ ภาค ข. และ ภาค ค.

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

-----------------------------------------------------

ประกาศรับสมัคร วันที่ 9 15 พฤศจิกายน 2552

รับสมัคร วันที่ 16 20 พฤศจิกายน 2552

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552

สอบภาค ข. (สอบข้อเขียน) วันที่ 8 ธันวาคม 2552

สอบภาค ค. (สอบสัมภาษณ์) วันที่ 9 ธันวาคม 2552

ประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2552

***************************************

ที่มา http://www.sukhothai1.go.th/index.php